เสียงก็ดี ตัวหนังสือก็ดี ชื่อว่า อักขระ อักขระ แปลว่า ไม่รู้จักสิ้น และไม่เป็นของแข็ง
อักขระในภาษาบาลีมี 41 ตัว
แบ่งเป็นสระ 8 ตัว คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
แบ่งเป็นพยัญชนะ 33 ตัว คือ
กฺ ขฺ คฺ ฆฺ งฺ
จฺ ฉฺ ชฺ ฌฺ ญฺ
ฏฺ ฐฺ ฑฺ ฒฺ ณฺ
ตฺ ถฺ ทฺ ธฺ นฺ
ปฺ ผฺ พฺ ภฺ มฺ
ยฺ รฺ ลฺ วฺ สฺ หฺ ฬฺ ํ
ในอักขระ 41 ตัวนั้น อักขระเบื้องต้น 8 ตัว ตั้งแต่ อ ถึง โอ ชื่อ สระ
สระออกเสียงได้ตามลำพังตนเอง และทำพยัญชนะให้ออกเสียงได้ด้วย
สระ 8 ตัวนี้ ชื่อ นิสสัย เพราะเป็นที่อาศัยของพยัญชนะ
สระ จัดเป็น รัสสะ ทีฆะ ครุ ลหุ วรรณะ
สระมีมาตราเบา 3 ตัว คือ อ อิ อุ ชื่อ รัสสะ เพราะมีเสียงสั้น เช่น อติ ครุ
สระ อา อี อู เอ โอ ชื่อ ทีฆะ เพราะมีเสียงยาว เช่น ภาคี เสโข
เฉพาะ เอ โอ ถ้ามีพยัญชนะสังโยคซ้อนอยู่เบื้องหลังจัดเป็นรัสสะ เช่น เสยฺโย* (เซ็ย-โย) โสตฺถิ (สด-ถิ)
* คำว่า เสยฺโย ไม่อ่านว่า เสย-โย (เช่น ในคำว่า เขาเอามือเสยผม) เพราะบาลีไม่มีสระเออ
และไม่อ่านว่า ไส-โย เพราะเสียงสระ "ไอ" ในภาษาบาลี เขียนด้วยสระ อ สะกดด้วย ยฺ เช่น มยฺหํ (ไม-หัง) อยฺโย (ไอ-โย)
สระที่เป็นทีฆะล้วน และสระที่เป็นรัสสะมีพยัญชนะสังโยคหรือนิคคหิตอยู่เบื้องหลัง ชื่อ ครุ เพราะมีเสียงหนัก เช่น ภูปาโล เอสี มนุสฺสินฺโท โกเสยฺยํ
สระที่เป็นรัสสะล้วน ไม่มีพยัญชนะสังโยคหรือนิคคหิตอยู่เบื้องหลัง ชื่อ ลหุ เพราะมีเสียงเบา เช่น ปติ มุนิ
สระนั้นจัดเป็น 3 คู่ คือ
อ อา เรียก อวรรณะ
อิ อี เรียก อิวรรณะ
อุ อู เรียก อุวรรณะ
เอ โอ เรียก สังยุตตสระ เพราะผสมเสียงสระไว้ 2 ตัว คือ อ กับ อิ ผสมกันเป็น เอ, อ กับ อุ ผสมกันเป็น โอ
อักขระที่เหลือจากสระนั้น 33 ตัว มี กฺ เป็นต้น มีนิคคหิตเป็นที่สุด ชื่อ พยัญชนะ
พยัญชนะ แปลว่า ทำเนื้อความให้ปรากฏ
พยัญชนะเหล่านี้ชื่อว่า นิสสิต เพราะอาศัยสระจึงออกเสียงได้ และทำเนื้อความของสระให้ปรากฏชัดขึ้น เช่น ไอ ไอ๋ อา ออกเสียงว่า “ไปไหนมา”
พยัญชนะ 33 ตัวนี้ จัดเป็น 2 พวก คือ วรรค และ อวรรค
พยัญชนะที่จัดเป็นพวกเดียวกันตามฐานกรณ์ที่เกิดเสียง ชื่อว่า วรรค มี 25 ตัว คือ
กฺ ขฺ คฺ ฆฺ งฺ 5 ตัวนี้ เรียกว่า ก วรรค
จฺ ฉฺ ชฺ ฌฺ ญ 5 ตัวนี้ เรียกว่า จ วรรค
ฏฺ ฐฺ ฑฺ ฒฺ ณฺ 5 ตัวนี้ เรียกว่า ฏ วรรค
ตฺ ถฺ ทฺ ธฺ นฺ 5 ตัวนี้ เรียกว่า ต วรรค
ปฺ ผฺ พฺ ภฺ มฺ 5 ตัวนี้ เรียกว่า ป วรรค
พยัญชนะที่ไม่เป็นพวกเดียวกัน ตามฐานกรณ์ที่เกิดเสียง ชื่อว่า อวรรค มี 8 ตัว คือ ยฺ รฺ ลฺ วฺ สฺ หฺ ฬฺ ํ
พยัญชนะคือ ํ ตามศาสนโวหาร เรียกว่า นิคคหิต ส่วนในคัมภีร์ศัพทศาสตร์ เรียกว่า อนุสาร
นิคคหิต แปลว่า กดสระ หรือ กดกรณ์ (กรณ์คืออวัยวะที่ทำเสียง) เวลาเมื่อจะว่า ไม่ต้องอ้าปากเกินกว่าปกติ เหมือนว่าทีฆะ
อนุสาร แปลว่า ไปตามสระ เพราะต้องไปตามหลังรัสสสระ คือ อ อิ อุ เช่น อหํ เสตุํ อกาสึ
ฐานที่ตั้งที่เกิดของอักขระ มี 6 คือ กัณฐะ คอ, ตาลุ เพดาน, มุทธา ปุ่มเหงือก, ทันตะ ฟัน, โอฏฐะ ริมฝีปาก, นาสิกา จมูก
อักขระบางเหล่าเกิดในฐานเดียว บางเหล่าเกิดใน 2 ฐาน
อ | อา | กฺ | ขฺ | คฺ | ฆฺ | งฺ | หฺ | 8 ตัวนี้เกิดที่คอ | เรียกว่า กัณฐชะ | |
อิ | อี | จฺ | ฉฺ | ชฺ | ฌฺ | ญฺ | ยฺ | 8 ตัวนี้เกิดที่เพดาน | เรียกว่า ตาลุชะ | |
ฏฺ | ฐฺ | ฑฺ | ฒฺ | ณฺ | รฺ | ฬฺ | 7 ตัวนี้เกิดที่ศีรษะ หรือปุ่มเหงือก | เรียกว่า มุทธชะ | ||
ต | ถ | ท | ธ | น | ล | ส | 7 ตัวนี้เกิดที่ฟัน | เรียกว่า ทันตชะ | ||
อุ | อู | ป | ผ | พ | ภ | ม | 7 ตัวนี้เกิดที่ริมฝีปาก | เรียกว่า โอฏฐชะ | ||
ํ (นิคคหิต) | เกิดในจมูก | เรียกว่า นาสิกัฏฐานชะ |
พยัญชนะที่สุดวรรค 5 ตัว คือ งฺ ญฺ ณฺ นฺ มฺ เกิดใน 2 ฐาน คือ ฐานเดิมของตนและจมูก เรียกว่า สกัฏฐานนาสิกัฏฐานชะ
เอ เกิดใน 2 ฐาน คือ คอและเพดาน เรียกว่า กัณฐตาลุชะ
โอ เกิดใน 2 ฐาน คือ คอและริมฝีปาก เรียกว่า กัณโฐฏฐชะ
วฺ เกิดใน 2 ฐาน คือ ฟันและริมฝีปาก เรียกว่า ทันโตฏฐชะ
หฺ ที่ประกอบด้วยพยัญชนะ 8 ตัว คือ ญฺ ณฺ นฺ มฺ ย ลฺ วฺ ฬฺ เกิดที่อก เรียกว่า อุรชะ
ถ้าไม่ได้ประกอบ เกิดในคอ ตามฐานเดิมของตน (กัณฐชะ)
กรณ์เครื่องทำอักขระ มี 4 อย่างคือ
มาตรา
รัสสสระ มาตราเดียว ทีฆสระ 2 มาตรา สระที่มีพยัญชนะสังโยคอยู่เบื้องหลัง 3 มาตรา พยัญชนะทุกตัว กึ่งมาตรา
พยัญชนะที่มีเสียงก้อง เรียกว่า โฆสะ ที่มีเสียงไม่ก้อง เรียกว่า อโฆสะ
พยัญชนะที่ 1 ที่ 2 ในวรรคทั้ง 5 คือ กฺ ขฺ, จฺ ฉฺ, ฏฺ ฐฺ, ตฺ ถฺ, ปฺ ผฺ และ สฺ 11 ตัวนี้เป็น อโฆสะ
พยัญชนะที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ในวรรคทั้ง 5 คือ คฺ ฆฺ งฺ, ฌฺ ชฺ ญฺ, ฑฺ ฒฺ ณฺ, ทฺ ธฺ นฺ, พฺ ภฺ มฺ และ ยฺ รฺ ลฺ วฺ หฺ ฬฺ 21 ตัวนี้เป็น โฆสะ
นิคคหิต นักปราชญ์ผู้รู้ศัพทศาสตร์ประสงค์เป็น โฆสะ
ส่วนนักปราชญ์ฝ่ายศาสนาประสงค์เป็น โฆสาโฆสวิมุตติ พ้นจากโฆสะและอโฆสะ
เสียงนิคคหิตนี้ อ่านตามวิธีภาษาบาลี มีเสียงเหมือน งฺ สะกด อ่านตามวิธีสันสกฤต มีเสียงเหมือน มฺ สะกด
พยัญชนะที่ถูกฐานตัวเองหย่อน ๆ ชื่อ สิถิล
พยัญชนะที่ถูกฐานของตนหนัก บันลือเสียงดัง ชื่อ ธนิต
พยัญชนะที่ 1 ที่ 3 ในวรรคทั้ง 5 เป็น สิถิล
พยัญชนะที่ 2 ที่ 4 ในวรรคทั้ง 5 เป็น ธนิต
ในคัมภีร์กัจจายนเภทแสดงไว้ว่า พยัญชนะที่สุดวรรค 5 ตัว ก็เป็น สิถิล แต่ในคัมภีร์อื่นไม่ได้กล่าวไว้
พยัญชนะอวรรค ไม่จัดเป็นสิถิล ธนิต
พยัญชนะที่เป็น สิถิลอโฆสะ มีเสียงเบากว่า ทุกพยัญชนะ
พยัญชนะที่เป็น ธนิตอโฆสะ มีเสียงหนักกว่า สิถิลอโฆสะ
พยัญชนะที่เป็น สิถิลโฆสะ มีเสียงดังกว่า ธนิตอโฆสะ
พยัญชนะที่เป็น ธนิตโฆสะ มีเสียงก้องกว่า สิถิลโฆสะ
พยัญชนะ 4 ตัว คือ ยฺ รฺ ลฺ วฺ ถ้าอยู่หลังพยัญชนะอื่น ออกเสียงผสมกับพยัญชนะตัวหน้า เช่น ทฺวารานิ ภทฺรานิ
สฺ มีสำเนียงเป็น อุสุมะ ไม่มีคำเทียบในภาษาของเรา
หฺ ถ้าอยู่หน้าพยัญชนะอื่น ก็ทำให้สระที่อยู่ข้างหน้าตน ออกเสียงมีลมมากขึ้น เหมือนคำว่า พฺรหฺม
หฺ ถ้ามีพยัญชนะ 8 ตัว คือ ญฺ ณฺ นฺ มฺ ยฺ ลฺ วฺ ฬฺ นำหน้า หฺ ก็มีสำเนียงเข้าผสมกับพยัญชนะนั้น เช่น มุฬฺโห เป็นต้น
พยัญชนะที่เป็น อัฑฒสระ คือ ยฺ รฺ ลฺ วฺ สฺ หฺ ฬฺ 7 ตัวนี้มีเสียงกึ่งสระ คือ กึ่งมาตรา
เพราะพยัญชนะเหล่านี้ บางตัวก็รวมลงในสระเดียวกันกับพยัญชนะอื่น ออกเสียงพร้อมกันได้
บางตัวแม้เป็นตัวสะกด ก็คงออกเสียงได้หน่อยหนึ่ง พอให้รู้ได้ว่าตัวนั้นสะกด
ในพยัญชนะวรรคทั้งหลาย
พยัญชนะที่ 1 ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ 1 และที่ 2 ของตนได้ เช่น อกฺก, ทกฺข, สจฺจ, วจฺฉ
พยัญชนะที่ 3 ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ 3 และที่ 4 ของตนได้ เช่น อคฺค, อชฺช, อชฺฌาสย
พยัญชนะที่ 5 ซ้อนหน้าพยัญชนะของตนได้ทั้ง 5 ตัว
(ยกเว้นแต่ตัว งฺ ซึ่งเป็นตัวสะกดอย่างเดียว มิได้มีสำเนียงในภาษาบาลี
ซ้อนหน้าตัวเองไม่ได้ เช่น ปงฺก, สงฺข, องฺค, สงฺฆ)
พยัญชนะอวรรค 3 ตัว คือ ยฺ ลฺ สฺ ซ้อนหน้าตัวเองได้ เช่น อยฺย, อลฺล, อสฺส